การคด หรือ บิดเบี้ยวที่จมูกนั้น ไม่ได้หมายความว่า กระดูกที่จมูกบิดเบี้ยวเท่านั้นค่ะ ยังหมายความรวมถึง ผนังกั้นช่องจมูก บริเวณกระดูกอ่อนที่โพรงจมูก (ทั้งด้านบน และด้านล่าง) ดังนั้น ควรทำการตรวจเช็คอย่างละเอียด เพื่อรับการผ่าตัดแก้ไขได้ถูกจุด
วิธีการผ่าตัดแก้ไขจมูกคด
เพื่อให้รูปลักษณ์ภายนอกของจมูกมีความสวยงามนั้น แพทย์จะทำการผ่าตัดแก้ไขโครงสร้างจมูก และ ผนังกั้นช่องจมูกไปในเวลาเดียวกัน เพื่อให้ได้รูปจมูกที่ออกมาสวยงาม การผ่าตัดจะบอกได้ว่าประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปลักษณ์ภายนอกจมูกเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการผ่าตัดผนังกั้นจมูก และการปรับแต่งโครงจมูกอีกด้วย
การผ่าตัดแก้ไขภาวะดังกล่าว ทำโดยการผ่าตัดผ่านช่องจมูก โดยจะไม่มีแผลหรือรอยผ่าตัดให้เห็นภายนอก ยกเว้นในรายที่ผนังกั้นช่องจมูกคดนั้นอยู่บริเวณด้านหน้ามาก อาจมีแผลเล็กๆ ที่ผิวหนังบริเวณผนังกั้นช่องจมูกทางด้านหน้าส่วนล่าง ซึ่งเล็กและแทบมองไม่เห็น การผ่าตัดนี้บางครั้งจะทำร่วมกับ การผ่าตัดรักษาโรคไซนัสอักเสบ หรือโรคริดสีดวงจมูกโดยวิธีการส่องกล้อง
การผ่าตัดนี้อาจใช้ยาชาเฉพาะที่ หรือวิธีดมยาสลบก็ได้ค่ะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด ในกรณีที่ผ่าตัดโดยวิธีดมยาสลบ ผู้ป่วยจะต้องเข้ามาอยู่ในโรงพยาบาล 1 วันก่อนผ่าตัด เพื่อวิสัญญีแพทย์จะได้เตรียมความพร้อมสำหรับการดมยาสลบในวันรุ่งขึ้นที่จะผ่าตัด คืนวันก่อนผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับการตัดขนจมูกเพื่อเตรียมบริเวณที่จะทำการผ่าตัด แพทย์จะให้งดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืนเพื่อป้องกันการสำลักอาหารลงปอดเวลาดมยาสลบ
หลังผ่าตัดแก้ไขจมูกคด
1. จะมีวัสดุที่ใช้ในการห้ามเลือดอยู่ในโพรงจมูกทั้งสองข้างจึงต้องหายใจทางปากจนกว่าแพทย์จะเอาวัสดุห้ามเลือดออกน่ะนะคะ ซึ่งอาจทำให้คอแห้ง แสบหรือเจ็บคอได้ จึงควรจิบน้ำ และกลั้วคอบ้วนปาก เพื่อทำความสะอาดช่องปากและคอบ่อยๆ
2. ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บจมูกจากแผลผ่าตัดบ้างผู้ป่วยอาจมีเลือดปนน้ำมูกหรือน้ำลายได้บ้าง ในช่วงหลังผ่าตัดเสร็จใหม่ ๆ อาจจะมีไข้ หรือมีอาการบวม หรือรู้สึกติดๆ ขัดๆ ตึงๆคล้ายมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในโพรงจมูกหรือมีเสียงเปลี่ยนได้ซึ่งอาการดังกล่าวมักจะหายไปเองภายใน 1 สัปดาห์ผู้ป่วยไม่ควรดึงวัสดุห้ามเลือดในโพรงจมูกออกเอง เพราะอาจทำให้มีเลือดออกมากได้
การดูแลตัวเองหลังผ่าตัด
หลังการผ่าตัด 1-2 วันแรกเยื่อบุจมูกอาจบวมมากขึ้น ทำให้อาการคัดจมูกมากขึ้นได้ดังนั้นจึงควรนอนศีรษะสูงโดยใช้หมอนหนุน หรือนอนบนที่นอนที่สามารถปรับความเอียงได้ อมและประคบน้ำแข็งบ่อยๆบริเวณหน้าผากหรือลำคอ ในช่วงสัปดาห์แรก เพื่อลดอาการบวมและเลือดออกบริเวณที่ทำผ่าตัด
ผู้ป่วยจะได้รับยาต้านจุลชีพ, ยาแก้ปวด, ยาลดบวม, ยาหยอดจมูกเพื่อห้ามเลือด, ยาลดบวม, ยาลดอาการคัน จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล และจะมีสายให้น้ำเกลืออยู่ที่แขน เมื่อผู้ป่วยรับประทานได้ดีพอควรแพทย์จะเอาสายให้น้ำเกลือออกผู้ป่วยสามารถรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล เมื่อจำเป็นได้ แพทย์จะนำวัสดุที่ใส่ไว้ในโพรงจมูกออกภายใน 1-2 วัน หลังผ่าตัดพยาบาลจะสอนให้ล้างทำความสะอาดช่องจมูกด้วยตนเอง เพื่อทำการล้างจมูกต่อที่บ้าน ซึ่งโดยทั่วไปประมาณ 2 วัน หลังจากที่แพทย์เอาวัสดุห้ามเลือดออกแล้ว และไม่มีเลือดออกที่ผิดปกติ ผู้ป่วยควรล้างจมูกทำความสะอาดโพรงจมูกด้วยน้ำเกลืออุ่น วันละ 2 – 4 ครั้ง
แพทย์จะให้ผู้ป่วยพักรักษาตัวที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติค่ะ แต่ควรหลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรงๆ การแคะจมูกหรือการกระทบกระเทือนบริเวณจมูกการออกแรงมาก การเล่นกีฬาที่หักโหม หรือยกของหนักหลังผ่าตัดเพราะอาจทำให้มีเลือดออกจากแผลที่เยื่อบุจมูกได้ ถ้ามีเลือดออกจากจมูกหรือไหลลงคอ ควรนอนพัก ยกศีรษะสูง หยอดยาหยอดจมูกเพื่อห้ามเลือดที่แพทย์สั่งไว้ให้ 3-4 หยดในโพรงจมูกแต่ละข้างนำน้ำแข็งมาประคบบริเวณหน้าผากหรือคออมน้ำแข็งเพื่อให้เลือดหยุด การประคบ หรืออมน้ำแข็งควรประคบหรืออมประมาณ 10 นาที แล้วจึงเอาออกประมาณ 10 นาทีแล้วค่อยประคบหรืออมใหม่เป็นเวลา 10 นาที ทำเช่นนี้สลับกันไปเรื่อยๆถ้าเลือดออกไม่หยุดหรือออกมากผิดปกติ เช่น เป็นถ้วยแก้ว ควรรีบมาโรงพยาบาลทันที
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากการผ่าตัด
บริเวณที่ผ่าตัดติดเชื้อ, การมีเลือดออกในเยื่อบุผนังกั้นช่องจมูกถ้ามีการติดเชื้อเกิดขึ้น อาจมีการยุบตัวของผนังกั้นช่องจมูกทำให้ดั้งจมูกยุบ, การเกิดอาการชาที่ริมฝีปากบนบริเวณฟัน 4 ซี่หน้า หากเกิดขึ้น อาจเป็นเพียงชั่วคราวแล้วค่อย ๆ หายไปเองใน 1 – 2 เดือน หรืออาจเป็นถาวรหากมีการกระทบกระเทือนมากนอกจากนี้ยังอาจเกิดรูทะลุของผนังกั้นช่องจมูก ซึ่งมองไม่เห็นจากภายนอกและส่วนใหญ่ไม่มีอาการใด ๆ ส่วนน้อยผู้ป่วยอาจมีน้ำมูกแห้ง ๆ เกาะบริเวณรูที่ทะลุบ่อย ๆจนอาจมีเลือดกำเดาออกเป็นครั้งคราว และในบางรายอาจได้ยินเสียงลมวิ่งผ่านรูทะลุเวลาหายใจ หากมีอาการก็สามารถทำผ่าตัดเพื่อปิดรูทะลุดังกล่าวได้ แต่ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้พบได้น้อยมาก ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยจะกลับบ้านได้ หลังผ่าตัด 3-4 วัน น่ะนะคะ
การนัดตรวจหลังออกจากโรงพยาบาล
ปกติแพทย์จะนัดมาดูอาการ และดูแผลผ่าตัดในจมูก ทำความสะอาดในโพรงจมูก1 สัปดาห์หลังผ่าตัด และห่างขึ้นเป็นระยะ เช่น ทุก 2 สัปดาห์, 1 เดือน, 3 เดือน, 6 เดือน จนกว่าจะหายดีค่ะ
ภาพประกอบจาก อินเตอร์เน็ต