ในประเทศอินเดียสมัยก่อนพุทธกาล ช่างปั้นหม้อตระกูลโคมะ (Kumar) เป็นผู้มีชื่อเสียงใน การเสริมจมูกให้สตรีมีชู้ ที่ถูกตัดจมูกทิ้ง และเป็นเวลาหลายพันปีมาแล้ว ที่ ฮิปโปเครตีส (Hippocrates) แพทย์ชาวกรีกผู้เป็นบิดาแห่งการแพทย์ ได้อธิบายหลักวิธีพันผ้ายึดกระดูกใบหน้าหักรอบ ๆ หน้าผากและคาง
หนังสือพิมพ์สยามนิกร (๒๑ มกราคม ๒๕๐๗) กล่าวถึงศัลยกรรมเสริมความงามว่า เริ่มมีมาในยุโรปตั้งแต่สมัยกลาง (ค.ศ. ๕๐๐-๑๔๕๐) ค่ะ สมัยนั้นได้มีการพยายามจะซ่อมจมูกหรือหูที่โหว่หรือแหว่งวิ่นให้ดูดีขึ้น ตามประวัติกล่าวไว้ว่าในประเทศเยอรมนียุคนั้น เคยมีกษัตริย์องค์หนึ่ง ให้ช่างทำจมูกทองคำเข้าสวมแทนพระนาสิกอันโหว่ของพระองค์
หนังสือ Human Face โดย John Liggett กล่าวถึงพัฒนาการของศัลยกรรมเสริมความงามว่า เริ่มต้นประมาณ ๑,๐๐๐ ปีที่แล้วในประเทศอินเดีย และในระหว่างยุคกลาง นักกายวิภาค คือ Vesalius, Fallopius และ Ambroise Pare ได้เขียนหนังสือเตือนศัลยแพทย์เกี่ยวกับอันตรายและความยากลำบากในการทำศัลยกรรม แต่งานเขียนที่เป็นหลักฐานและได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกเกี่ยวกับศัลยกรรมเสริมความงาม ได้แก่ งานเขียนเรื่อง The Madras Gazette ของ Gaspare Tagliacozzi ชาวอิตาลี ได้กล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการผ่าตัดเสริมจมูกที่หายไปจากอาวุธมีคมหรือโรคร้าย โดยการนำชิ้นส่วนบริเวณหน้าผากมาสร้างทดแทนจมูกที่หายไป นอกจากนี้งานเขียนอีกชิ้นหนึ่งที่ชื่อ De Chirurgia Curtorum ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. ๑๕๙๗ อธิบายเกี่ยวกับกระบวนการผ่าตัดหน้าตาอย่างละเอียดถึง ๒๒ แบบ ซึ่งวิธีการต่าง ๆ ของ Tagliacozzi ทำให้เขามีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จอย่างมากในสมัยนั้น คำอธิบายของเขากลายเป็นรากฐานของการทำศัลยกรรมในสมัยต่อมาอ่ะนะคะ แต่สิ่งนี้ทำให้เขาถูกต่อต้านจากคนจำนวนมากและถูกกล่าวหาว่าเป็นพ่อมดที่เข้าไปบิดเบือนงานที่พระเจ้าสร้างมา
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑ Harold D. Gillies ศัลยแพทย์ชาวนิวซีแลนด์ ผู้เชี่ยวชาญในการผ่าตัดรักษาทหารบาดเจ็บในสงคราม เป็นผู้วางรากฐานศัลยกรรมตกแต่ง และแต่งตำราผ่าตัดใบหน้า หลักวิชาศัลยกรรมตกแต่งของเขายังใช้และเป็นประโยชน์จนถึงปัจจุบัน
ปี ค.ศ. ๑๙๒๘ JacqueS Joseph ได้เขียนหนังสือ Nasenplastik and Sonstige Gesichtsplastik เพื่ออธิบายถึงการนำเทคนิคใหม่ ๆ มาใช้ในการทำศัลยกรรม โดยเขาได้ประดิษฐ์เครื่องมือพิเศษต่าง ๆ เช่น เครื่องมือที่ใช้สำหรับยกกระดูกเลื่อยสำหรับลดขนาดของกระดูกอ่อนและดั้งจมูก ในสมัยนั้นศัลยกรรมตกแต่งที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปและประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง ได้แก่ การผ่าตัดซ่อมแซมหน้าตาที่เสียโฉมจากอุบัติเหตุทางถนนและการสู้รบในสงคราม เพราะการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงหรือซ่อมแซมหน้าตามีผลต่อจิตใจของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก และสามารถทำให้เขากลับเข้ามาดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปรกติสุข
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ เป็นต้นมา ศัลยกรรมตกแต่งซบเซาลงไปเนื่องจากทั่วโลกเกิดภาวะวิกฤตหลังสงคราม แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติ ศัลยกรรมตกแต่งกลับเป็นที่นิยมทั่วโลกอีกครั้งหนึ่งและเป็นที่นิยมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้ค่ะ
ส่วนการผ่าตัดเสริมความงามของสตรีในเมืองไทย เริ่มต้นประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๐ โดยการชักนำของกลุ่มบุคคลที่มิได้เป็นแพทย์ ส่วนใหญ่ก็เป็นชาวจีนน่ะนะคะ มีร้านรับทำศัลยกรรมของชาวจีนเปิดบริการอยู่สองร้าน คือ ร้านซ่งฮุย ย่านเยาวราช และร้านซุ่ยเต็ก บริเวณเจริญผล ทั้งสองร้านนี้รับทำตาสองชั้น เสริมจมูกให้โด่ง และเย็บใบหูที่กางออกมากเกินไป แต่เนื่องจากผู้ทำไม่ใช่ศัลยแพทย์และมีความรู้น้อย จึงทำให้เกิดความผิดพลาดทางเทคนิคเนือง ๆ บางคนมีอาการอักเสบและติดเชื้อ เป็นผลให้ผู้ที่ไปทำได้รับความเสียหายถึงขั้นฟ้องศาล จึงต้องเลิกกิจการไป
วงการแพทย์ในขณะนั้นยังมีความเห็นว่า ศัลยกรรมตกแต่งไม่ใช่สิ่งจำเป็นค่ะ จะทำก็ต่อเมื่อมีความผิดปรกติทางกายหรือทางสรีระเท่านั้น จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๒ จึงได้เริ่มมีแพทย์ไทยที่เรียนและฝึกงานในสาขาศัลยศาสตร์ตกแต่งโดยตรง เดินทางกลับมาจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ โดยเริ่มปฏิบัติงานในด้านศัลยกรรมตกแต่งทั้งในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ต่อมาได้ก่อตั้งสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ จากนั้นงานศัลยกรรมตกแต่งโดยเฉพาะการทำศัลยกรรมเสริมความงามได้เจริญและพัฒนาอย่างรวดเร็วที่เล่ามานี้ คัดย่อมาจากวิทยานิพนธ์เรื่อง สตรีไทยกับศัลยกรรมเสริมความงาม โดย อริยา อินทามระ น่ะนะคะ
ในตอนต่อไป เราจะมารู้จักกับการทำศัลยกรรมตกแต่งกันให้มากขึ้น ว่าเดี๋ยวนี้การทำศัลยกรรมตกแต่งได้ก้าวไปถึงขั้นไหนแล้ว และมีศัลยกรรมตกแต่งประเภทไหนบ้าง ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันนี้ค่ะ